• วันเสาร์ที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2560


    บทที่๘ ลักษณะของละครนอก
       
      ลักษณะของละครนอก
    ละครนอก มีมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา เป็นละครที่แสดงกันนอกราชธานี แต่เดิมคงมาจากการละเล่นพื้นเมือง และร้องแก้กัน แล้วต่อมาภายหลังจับเป็นเรื่องเป็นตอนขึ้น เป็นละครที่ดัดแปลงวิวัฒนาการมาจากละคร "โนห์รา" หรือ "ชาตรี" โดยปรับปรุงวิธีแสดงต่างๆ ตลอดจนเพลงร้อง และดนตรีประกอบให้แปลกออกไป
         ผู้แสดง
    ในสมัยโบราณจะใช้ผู้ชายแสดงล้วน ผู้แสดงจะต้องมีความคล่องแคล่วในการรำ และร้อง มีความสามารถที่จะหาคำพูดมาใช้ในการแสดงได้อย่างทันท่วงทีกับเหตุการณ์ เพราะขณะแสดงต้องเจรจาเอง
         การแต่งกาย
    ในขั้นแรกตัวละครแต่งตัวอย่างคนธรรมดาสามัญ เป็นเพียงแต่งให้รัดกุมเพื่อแสดงบทบาทได้สะดวก ตัวแสดงบทเป็นตัวนางก็นำเอาผ้าขาวม้ามาห่มสไบเฉียง ให้ผู้ชมละครทราบว่าผู้แสดงคนนั้นกำลังแสดงเป็นตัวนาง ถ้าแสดงบทเป็นตัวยักษ์ก็เขียนหน้าหรือใส่หน้ากาก ต่อมามีการแต่งกายให้ดูงดงามมากขึ้น วิจิตรพิสดารขึ้น เพราะเลียนแบบมาจากละครใน บางครั้งเรียกการแต่งกายลักษณะนี้ว่า "ยืนเครื่อง"
         เรื่องที่แสดง
    แสดงได้ทุกเรื่องยกเว้น ๓ เรื่อง คือ อิเหนา อุณรุฑ และรามเกียรติ์ บทละครที่แสดงมีดังนี้ คือ สมัยโบราณ มีบทละครนอกอยู่มากมาย แต่ที่มีหลักฐานปรากฏมีเพียง ๑๔ เรื่อง คือ การะเกด คาวี ไชยทัต พิกุลทอง พิมพ์สวรรค์ พิณสุริยวงศ์ มโนห์รา โม่งป่า มณีพิชัย สังข์ทอง สังข์ศิลป์ชัย สุวรรณศิลป์ สุวรรณหงส์ และโสวัต สมัยรัตนโกสินทร์ มีบทพระราชนิพนธ์ละครนอกในรัชกาลที่ ๒ อีก ๖ เรื่อง คือ สังข์ทอง ไชยเชษฐ์ ไกรทอง มณีพิชัย คาวี และสังข์ศิลป์ชัย (สังข์ศิลป์ชัย เป็นพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๓ เมื่อครั้งดำรงพระยศเป็นกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ โดยรัชกาลที่ ๒ ทรงแก้ไข)
          การแสดง
    มีความมุ่งหมายในการแสดงเรื่องมากกว่าความประณีตในการร่ายรำ ฉะนั้นในการดำเนินเรื่องจะรวดเร็ว ตลกขบขัน ไม่พิถีพิถันในเรื่องของขนบธรรมเนียมประเพณี การใช้ถ้อยคำของผู้แสดง มักใช้ถ้อยคำ "ตลาด" เป็นละครที่ชาวบ้านเรียกกันเป็นภาษาธรรมดาว่า "ละครตลาด" ทั้งนี้เพื่อให้ทันอกทันใจผู้ชมละคร
          ดนตรี
    มักนิยมใช้วงปี่พาทย์เครื่องห้า ก่อนการแสดงละครนอก ปี่พาทย์จะบรรเลงเพลงโหมโรงเย็น เป็นการเรียกคนดู เพลงโหมโรงเย็นประกอบด้วย เพลงสาธุการ ตระ รัวสามลา เข้าม่าน ปฐม และเพลงลา
          เพลงร้อง
    มักเป็นเพลงชั้นเดียว หรือเพลง ๒ ชั้น ที่มีจังหวะรวดเร็ว มักจะมีคำว่า "นอก" ติดกับชื่อเพลง เช่น เพลงช้าปี่นอก โอ้โลมนอก ปีนตลิ่งนอก ขึ้นพลับพลานอก เป็นต้น มีต้นเสียง และลูกคู่ บางทีตัวละครจะร้องเอง โดยมีลูกคู่รับทวน มีคนบอกบทอีก ๑ คน
         สถานที่แสดง
    โรงละครเป็นรูปสี่เหลี่ยมดูได้ ๓ ด้าน (เดิม) กั้นฉากผืนเดียวโดยไม่ต้องเปลี่ยนแปลงไปตามท้องเรื่อง มีประตูเข้าออก ๒ ทาง หน้าฉากตรงกลางตั้งเตียงสำหรับตัวละครนั่ง ด้านหลังฉากเป็นส่วนสำหรับตัวละครพักหรือแต่งตัว
         ความเเตกต่างระหว่างละครนอกกับละครใน
    ละครนอกนั้นแต่ก่อนมีอยู่หลายคณะ ต่างคณะต่างออกรับจ้างเล่นละครตาม งานต่างๆ สุดแล้วแต่จะมีผู้หา เพราะฉะนั้นบทละครนอกจึงคงมีอยู่ด้วยกันทุกคณะ เป็นสำนวนที่แตกต่างกันสุดแล้วแต่ใครจะแต่งบทให้ถูกใจคนดูได้มากเพื่อแข่งขันกัน เรื่องที่ได้นำมาแต่งเป็นบทละครนอกนั้นมีอยู่หลายเรื่องและมากกว่าเรื่องที่ใช้แสดง ละครใน เช่น เรื่องสังข์ทอง เรื่องมณีพิชัย เรื่องคาวี เรื่องไชยเชฐ เรื่องพระสุธน มโนห์รา เรื่องสังข์ศิลป์ชัย และเรื่องพระรถ เป็นต้น นอกจากนี้แล้วก็ยังมีเรื่องละครนอก อื่นๆ อีกมาก ซึ่งบัดนี้ได้สาบสูญไปแล้วในกาลเวลาอันยาวนานแห่งอดีต เรื่องละครนอก เหล่านี้ส่วนใหญ่มาจากนิทานในศาสนาพุทธ คือ ปัญญาสชาดก หรือนิทานชาดกห้าสิบ เรื่อง ซึ่งพระเถระในภาคเหนือได้รวบรวมเอานิยายพื้นเมืองมาแต่งในรูปชาดกเมื่อ หลายร้อยปีมาแล้ว นิทานชาดกห้าสิบเรื่องนี้เคยเป็นที่นิยมมากของคนไทยในทุกภาค จึงได้นำมาแต่งเป็นบทละครนอกและใช้ในการแสดงต่อมา
    ดังได้กล่าวแล้วว่าบทละครในนั้นนับได้ว่าเป็นวรรณคดีของชาติทุกเรื่อง ว่าโดย ทั่วไปแล้วบทกลอนของบทละครในจะไพเราะประณีตยิ่งกว่าละครนอก และในเวลา แสดงก็จะมีการร้องเป็นระยะเวลานานๆ ตามบทซึ่งแต่งไว้ยาว เพราะผู้ดูเป็นผู้ที่อยู่ใน ระเบียบแบบแผน ประเพณี มีมารยาทดี สามารถจะนั่งฟังเพลงที่ไพเราะและชมบทรำ ที่เชื่องช้าประณีตได้ แต่ชาวบ้านทั่วไปที่ต้องทำมาหากินเห็นจะรอไม่ได้ บทละครนอกจึง มักจะสั้นกว่า และตรงไปตรงมายิ่งกว่าบทละครใน แต่ความแตกต่างที่สำคัญที่สุดนั้น ก็คือ ละครในเล่นอยู่เพียงสามเรื่อง คือ เรื่องอุณรุท รามเกียรติ์และอิเหนาเท่านั้น ใน ทั้งสามเรื่องนี้ท้าวพระยามหากษัตริย์เป็นตัวเอกทั้งสิ้น และบทละครก็แต่งไปในทาง ยกย่องส่งเสริมท้าวพระยามหากษัตริย์ที่เป็นตัวเอกนั้น ไม่มีตอนใดเลยในบทละครในที่จะ ทำให้มองไปเห็นว่าหมิ่นหรือเห็นท้าวพระยามหากษัตริย์เป็นตัวตลก เป็นการยกย่องสรร เสริญโดยตลอดเพราะเป็นละครที่เล่นในพระราชฐาน แต่ละครนอกที่ชาวบ้านเขาเล่น ดูกันนั้น ท้าวพระยามหากษัตริย์เป็นตัวตลกทั้งสิ้น ไม่มีความดีอะไรเลย ขี้ขลาดตาขาว สารพัด ท้าวสามลในเรื่องสังข์ทองก็เป็นตัวตลก ท้าวเสนากุฎในเรื่องสังข์ศิลป์ชัยก็เป็น ตัวตลก ท้าวสันนุราชในเรื่องคาวีก็เป็นตัวตลก ขึ้นชื่อว่าพระเจ้าแผ่นดินแล้วบทละคร นอกเขียนให้เป็นตัวตลกหมด และแม้แต่บทละครนอกซึ่งเป็นพระราชนิพนธ์ในพระบาท สมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยก็ได้ทรงพระราชนิพนธ์โดยรักษาลักษณะของละครนอก ไว้ครบถ้วน
    บทละครนอกจึงแสดงให้เห็นสิ่งหนึ่งได้ชัดเจน คือชี้ให้เห็นถึงเอกลักษณ์ของคน ไทยไว้อย่างชัดแจ้งว่าเป็นคนที่ไม่นิยมนับถืออำนาจที่ปกครองแผ่นดินมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว ใครเป็นรัฐบาลคนไทยจะต้องวิจารณ์ว่าไม่ดีทั้งสิ้น และไม่นับถือ ที่ภาษาฝรั่งเรียกว่า anti-establishment และดูจากบทละครนอกก็จะเห็นได้ว่าคนไทยคงจะเป็นเช่นนี้มานานแล้ว






    ที่มา: https://sites.google.com/site/thai044ssru/wicha-hlak-phasa/bth-thi-4-laksna-kha-praphanth

    Leave a Reply

    Subscribe to Posts | Subscribe to Comments

  • Copyright © - หลวิชัย คาวี

    หลวิชัย คาวี - Powered by Blogger - Designed by Johanes Djogan